DIARY

Diary

เกร็ดความรู้วันนี้ :  ข้อดีของการนอนกลางวัน




                   จากผลของการวิจัย การนอนกลางวันที่ดีควรนอนประมาณ 10-20 นาทีโดยการนอนเพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สมองได้พักผ่อน และหากนอนยาวกว่านี้จะทำให้หลับลึก เมื่อตื่นขึ้นมาจะมีอาการสลึมสลือ แต่ไม่ควรนอนหลังบ่าย 3 โมง โดยข้อดีของการนอนกลางวันมีดังนี้
              1. ลดความเครียด
              2.ทำให้สมองกระตือรือร้นและตื่นตัว
              3.เสริมความจำและการเรียนรู้
              4.พักผ่อนหัวใจ
              5.ร่างกายมีความพร้อมสำหรับการออกกำลังกาย
              6.เสริมความคิดสร้างสรรค์
              7.ช่วยทดแทนการอดนอนของคืนที่ผ่านมา
              8.ทำให้หายง่วง
             แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรระลึกไว้ว่า เราไม่ได้นอนเพราะขี้เกียจ แต่นอนเพื่อพักผ่อนสมอง เพื่อความ active เมื่อตื่นขึ้นมา ซึ่งเมื่อครบ 10-20นาทีแล้วไม่ควรนอนต่อเพราะการนอนมากกว่า20นาที จะทำให้เข้าสู่ช่วงการหลับลึก และจะง่วงมากตอนตื่นขึ้นมา





เกร็ดความรู้วันนี้ :  การทำงานให้สนุก


           1. มองให้เห็นคุณค่าของงานที่ทำ งานที่ทำอยู่ ถ้าเราไม่เห็นค่าของมัน เราทำไปก็ไม่มีความสุข เหมือนสูบพลังออกจากชีวิต ถ้าเราภูมิใจ ชอบ ในงานที่ทำ ไม่ว่างานนั้นจะยาก ลำบากแค่ไหน เราก็จะทำมันออกมาได้ดี ต่อสู้ กับความยากลำบากนั้นได้
              2. กระตือรือล้นอยู่เสมอ ถ้าเรามีความสุข มองเห็นค่าในงานที่ทำแล้วหล่ะก็ ความกระตือรือล้นก็ตามมา ถ้าคุณเบื่องานเป็นบางครั้ง ก็เดินเล่น หาอะไรทำที่น่าเบื่อๆสักพัก แล้วกลับมาลุยงานใหม่ อารมณ์ก็มีผลเหมือนกันนะ ถ้าเราอารมณ์ดี เราก็จะมีพลังงานในการทำงานอย่างมาก
              3. มีสมาธิกับการทำงาน งานจะน่าเบื่อยังไง ถ้าเรามีสมาธิ ในการทำงาน เราก็จะสามารถทำงานนั้นๆ ผ่านไปได้ด้วยดี
                 โดยก่อนที่เราจะเริ่มทำงาน ให้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าเราจะไม่คิดอะไรนอกเรื่องนอกราวในขณะทำงาน แต่จะใช้ความคิดมากำหนดการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ เพื่อให้จิตเกิดเป็นสมาธิ มันจะได้เกิดความปีติสุขในขณะทำงาน วิธีทำก็ไม่ยาก ลองดูสิครับ สรุปง่าย ๆว่า ถ้าคุณรู้จักทำสมาธิในขณะทำงาน ก็เหมือนกับว่าคุณได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นในขณะทำงานเลยทีเดียว




เกร็ดความรู้วันนี้ :  คนสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไร 




             หลายๆ ครั้งเวลาที่เราพูดถึงสุขภาพจิตเรามักรู้สึกเหมือนกับว่าเรารู้ว่าสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไรหรือสุขภาพจิตไม่ดีเป็นอย่างไร แต่บางครั้งเมื่อเราต้องตอบคำถามว่าสุขภาพจิตที่ดีหรือคนปกติที่มีสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไรเรามักจะตอบไม่ถูก จริงๆแล้วคำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่ตอบไม่ง่ายนักและก็มีคนช่วยเราคิดกันมาก่อนหน้านี้มากมายโดยพอสรุปแนวความคิดได้ดังนี้ 

            1. คนปกติก็คือคนที่มีอะไรๆอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย มีความรู้สึกนึกคิดและทำอะไรๆได้เหมือนคนทั่วๆไปในสังคมนั้น แนวคิดแบบนี้ก็ง่ายดี แต่ในบางสังคมที่มีคนสุขภาพจิตไม่ดีหรือมีคนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอยู่มากๆ เช่น สังคมที่ชอบใช้ความรุนแรง สังคมที่ใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางแก้ปัญหา หรือสังคมที่มีการดื่มเหล้ามากๆ เราก็จะถือว่านั่นเป็นสิ่งปกติเพราะคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น 

            2. คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ไม่ป่วย ไม่มีโรคทางจิตเวช แนวคิดแบบนี้ถือว่าถ้าคนๆนั้นไม่มีอาการหรือพฤติกรรมที่แสดงถึงโรคทางจิตเวชก็ให้นับว่าเป็นคนปกติที่มีสุขภาพจิตดี แต่ในความจริงสุขภาพจิตดีควรเป็นอะไรที่มากกว่าการไม่ป่วย คนสุขภาพจิตดีนั้นนอกจากจะต้องไม่ป่วยแล้วต้องสามารถมีความรู้สึกเป็นสุข สามารถทำอะไรๆได้เต็มที่ตามศักยภาพของตนทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ความรู้สึก คนที่หัวดี เรียนเก่ง ไม่ป่วย แต่อยู่กับใครหรือทำงานกับใครก็มีปัญหาไปหมดไม่ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี

           3. สุขภาพจิตที่ดีและที่ไม่ดีเป็นสิ่งเดียวกันแต่ต่างกันในเชิงปริมาณหรือความรุนแรงเท่านั้น ในคนปกติบางครั้งก็มีอาการของโรคทางจิตเวชได้ เช่น บางครั้งเราล็อคประตูก่อนออกจากบ้านตามปกติแล้วแต่ในใจก็ยังเกิดความไม่แน่ใจจนอดไม่ได้ที่จะกลับมาตรวจดูใหม่ว่าล็อคประตูแล้วแน่นะ ซึ่งเป็นอาการย้ำคิดย้ำทำ แต่ถ้าอาการนั้นเป็นไม่รุนแรงและเกิดไม่บ่อยจนเกิดปัญหาเราก็ยังถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติอยู่ 

           4. คนปกติที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ปรับตัวได้ คนที่ปรับตัวได้ดีไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อสังคม หรือเป็นคนดี คนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ สามารถอยู่ได้ สามารถหาความสุขใส่ตัวและหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆได้ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพ จิตดีตามแนวคิดนี้ สังคมที่ดีต้องการมากกว่าการมีคนที่ปรับตัวได้มาอยู่รวมๆกัน 

          5. คนที่มีสุขภาพจิตดีต้องมีความสามารถที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้ แนวคิดนี้คิดว่าคนที่มีสุขภาพจิตดีควรจะมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่สามารถปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ได้ เช่น ถ้าเพื่อนที่โรงเรียนชอบแกล้ง คนที่มีสุขภาพจิตดีตามแนวคิดที่ 4 ก็จะทนเอา คอยระวังตัวอย่าให้เขาแกล้งได้ แต่คนที่มีสุขภาพจิตดีตามแนวคิด (ที่ 5) นี้ควรจะสามารถหาวิธีจัดการให้เขาเลิกแกล้งหรือไม่มาแกล้งได้ 

         6. คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง (good ego strength) คนที่มีจิตใจที่เข้มแข็งจะสามารถทนความเครียดได้มากและจะสามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าคนที่มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง คนที่มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งนั้นถึงแม้ว่าจะยังไม่ป่วย ถึงแม้ว่าจะยังปรับตัวได้ดีอยู่ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง

          ชีวิตของคนที่มีสุขภาพจิตดีไม่จำเป็นจะต้องประสบแต่ความสุขสมหวังไปเสียหมดเพราะชีวิตของคนเราคงจะยากที่จะราบรื่นไปเสียทุกอย่าง ในขณะที่ชีวิตมีปัญหาคนที่มีสุขภาพจิตดีก็เกิดความเครียดได้และอาจมีอาการบางอย่างของโรคทางจิตเวชได้ เช่น อาการย้ำคิดย้ำทำ อาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ในขณะที่ชีวิตมีปัญหาคนที่มีสุขภาพจิตดีจะหาทางจัดการกับปัญหาโดยใช้ทั้งเหตุผลและความรู้สึก บางครั้งก็แก้ปัญหาได้บางครั้งก็แก้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไรโดยรวมแล้วคนที่มีสุขภาพจิตดีจะมีความรู้สึกที่ดีและรู้สึกเป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์